เมื่อ “ครอบครัว” ไม่ได้ถูกจำกัดนิยามความหมายอยู่เพียงโครงสร้างดั้งเดิมแบบพ่อแม่ลูก หรือคู่รักที่แต่งงานถูกต้องตามกฎหมายดังในอดีต หากแต่เมื่อสังคมเข้าสู่ยุคเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ผู้คนก็เปิดรับรูปแบบใหม่ ๆ ของครอบครัวที่สะท้อนวิถีชีวิต ความเชื่อ และค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ครอบครัวเดี่ยว ครอบครัวข้ามเพศ ครอบครัวร่วมสร้าง (co-parenting) รวมถึงการเกิดขึ้นของความสัมพันธ์แบบ “ครอบครัวชั่วคราว” ที่ผ่อนปรนและยืดหยุ่นกฎระเบียบทางสังคมมากขึ้น จนเป็นแนวคิดที่คนรุ่นใหม่กำลังให้ความสนใจในปัจจุบัน
TSU Poll (ทีเอสยู โพล) มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนพื้นที่ภาคใต้ ในประเด็น คิดอย่างไรกับ “ครอบครัวชั่วคราว” โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 414 คน ผ่านระบบออนไลน์ จากการสำรวจพบว่า ผู้ให้ข้อมูล ร้อยละ 27.29 ยังไม่แน่ใจกับนิยามความหมายของ “ครอบครัวชั่วคราว” ในขณะที่ผู้ให้ข้อมูล ร้อยละ 27.05 มีความเข้าใจว่า “ครอบครัวชั่วคราว” เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ผูกมัดทางกฎหมาย แต่ยังถือเป็นครอบครัว และร้อยละ 22.46 ของกลุ่มตัวอย่างคิดว่า “ครอบครัวชั่วคราว” เป็นการแต่งงานหรือความสัมพันธ์ที่มีระยะเวลาจำกัด
แม้แนวคิดนี้จะยังใหม่สำหรับสังคมไทย แต่จากการสำรวจ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สะท้อนถึงการเปิดกว้างทางความคิด โดยร้อยละ 54.11 ของกลุ่มตัวอย่างมองว่าการตัดสินใจในเรื่องครอบครัว “ขึ้นอยู่กับแต่ละคู่” ซึ่งสะท้อนถึงทัศนคติแบบยืดหยุ่นที่ยอมรับว่าแต่ละคนมีสิทธิ์เลือกรูปแบบความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับตนเอง นอกจากนี้ยังพบว่ากว่าร้อยละ 64 ของกลุ่มตัวอย่างมองว่าแนวคิดครอบครัวชั่วคราว “มีทั้งข้อดีและข้อเสีย” ซึ่งสะท้อนว่าผู้คนเริ่มมองเรื่องนี้ในเชิงซับซ้อน ไม่ได้ตัดสินเพียงด้านใดด้านหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความคิดเห็น ประชาชนมีแนวโน้มในการเปิดรับแนวคิดใหม่ ๆ มากขึ้น แต่เมื่อถามถึงรูปแบบครอบครัวที่ต้องการ กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 76 ก็ยังเลือก “ครอบครัวมั่นคง” ที่มีความตั้งใจแต่งงานและอยู่ร่วมกันระยะยาว ขณะที่กลุ่มที่เลือก “ครอบครัวชั่วคราว” มีเพียงร้อยละ 7.49 และผู้ที่อยากอยู่แบบโสดมีเพียงร้อยละ 7.25 เท่านั้น
เมื่อดูข้อมูลเชิงลึกจากการสำรวจจะเห็นว่าแม้คนในสังคมภาคใต้ส่วนใหญ่จะยังคงให้คุณค่ากับความมั่นคงของสถานภาพและความต่อเนื่องของความสัมพันธ์ในฐานะ “ครอบครัว” แต่ขณะเดียวกันก็มิได้ปฏิเสธรูปแบบครอบครัวทางเลือก การที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยเลือกตอบว่า “ขึ้นอยู่กับแต่ละคู่” หรือมองว่าแนวคิดนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย สะท้อนถึงการเริ่มต้นของกระบวนการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงของค่านิยมครอบครัวในสังคมไทย
ในแง่มุมหนึ่ง “ครอบครัวชั่วคราว” อาจไม่ใช่เพียงแค่การมีชีวิตคู่อย่างไม่ผูกพัน แต่ยังอาจเป็น “พื้นที่ทดลองชีวิต” สำหรับบางคนที่ต้องการสำรวจความเข้ากันได้ การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน หรือแม้แต่ทดสอบความพร้อมก่อนตัดสินใจเข้าสู่การสร้างความสัมพันธ์แบบ “ครอบครัว” ในระยะยาว จากสถิติการสมรสและการหย่าร้าง ภาพสะท้อนโครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2558-2567) พบว่าอัตราการจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยลดลงถึงร้อยละ 13 จาก 304,392 คู่ เหลือ 263,087 คู่ ขณะที่อัตราการหย่าร้างกลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 จาก 117,880 คู่ เป็น 147,621 คู่ในปี 2567 สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นคงของความสัมพันธ์ระยะยาว และความท้าทายในการรักษาโครงสร้างครอบครัวในยุคปัจจุบัน เมื่อพิจารณาจากบริบททางสังคมแล้วต้องยอมรับว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านประชากร เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี การเมือง กฎหมาย และวัฒนธรรม ซึ่งล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อ “ครอบครัว” ในฐานะหน่วยพื้นฐานของสังคม
ดังนั้นการยอมรับโครงสร้างครอบครัวในรูปแบบ “ครอบครัวชั่วคราว” ของสังคมภาคใต้จึงอาจสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของระบบความสัมพันธ์จากการยึดมั่นในกรอบกฎหมายและศีลธรรมแบบเดิม ไปสู่การยอมรับในความหลากหลายของประสบการณ์ชีวิตและความต้องการเฉพาะบุคคล แม้ผู้คนส่วนใหญ่กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 76 จะยังเลือกระบบความสัมพันธ์แบบ “ครอบครัวมั่นคง” ที่จะแต่งงานด้วยความตั้งใจอยู่กันยาวนานก็ตาม
…………………………….
จัดทำการสำรวจช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน 2568
โดย TSU Poll มหาวิทยาลัยทักษิณ
เอกสารอ้างอิง
ไทยรัฐออนไลน์. (16 มกราคม 2568). จดทะเบียนต่ำ-หย่าร้างสูง สถิติคนไทยหมดใจ ขออยู่สถานะโสด. เข้าถึงจาก : https://www.thairath.co.th/scoop/infographic/2836542